บันทึกการเดินทาง ฉงชิ่ง เฉิงตู วันที่ 7 – 29 ธันวาคม 2566

วันนี้เป็นวันไฮไลท์ อีกวันหนึ่งของทริปการเดินทางนี้ เพราะเราจะขึ้นเขาไปเอ่อเหมยซาน

ตีห้า – หกโมงเช้า ตื่นนอน อาบน้ำเก็บกระเป๋า แยกเป็นกระเป๋าเป้ ที่จะนำติดตัวขึ้นเขาไป กับกระเป๋าเดินทาง ที่ตั้งใจว่าจะฝากไว้ที่ที่พัก พอเก็บของเสร็จ เดินออกมาจะฝากกระเป๋าไว้ที่เคาน์เตอร์ ปรากฏว่า ที่เคาน์เตอร์มืดมาก ไม่มีคนเฝ้า มีแค่กล่องวางกุญแจ สำหรับ check out และเบอร์โทรศัพท์เผื่อไว้ติดต่อเร่งด่วน

แต่เราไม่สะดวกติดต่อทางโทรศัพท์ เพราะไม่มีเบอร์จีน เลยใช้วิธีเขียนโน้ต ข้อความว่าฝากกระเป๋าไว้ จะมาเอาตอนเย็น ๆ แล้วก็วางไว้หลังเคาน์เตอร์เลย

จากนั้นพวกเราก็เดินออกจากซอย เดินไปทางที่ซื้อตั๋วขึ้นเอ่อเหมย ค่าตั๋วรวมทั้งหมด 250 หยวน/คน ตอนที่ซื้อรู้สึกว่าแพงมาก แต่พอกลับลงมาจึงรู้ได้ว่าไม่แพงเลย

พอซื้อตั๋วเสร็จก็ซื้อขนม และน้ำ เตรียมขึ้นไปกินบนเขา เพราะเวลาออกเช้ามาก ไม่มีเวลาแวะกินข้าว รอบที่เราซื้อตั๋ว เป็นรอบ 7.30 น. แต่ฟ้ายังมืดมาก เมื่อตอนขึ้นรถบัส ก่อนรถออก คนขับรถลงมาเตือนถึงที่ ให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย ก่อนออกรถ

พอรถออกแล้ว ระหว่างทางมืดมาก มองไม่เห็นอะไร แต่ความรู้สึกว่า คล้ายตอนไปเที่ยวดอยอินทนนท์ คือ ไปค้างที่ตีนเขาก่อน แล้วเช้ามืดค่อยออกเดินทางขึ้นเขา

พอรถบัสขับไปในความมืดระยะหนึ่ง ก็ไปจอดแวะพัก ให้คนในรถเข้าห้องน้ำ ก่อนออกเดินทางต่อ ต้องยอมรับว่าอากาศหนาวมาก แต่ก็อากาศดีมาก ในระหว่างทางเกือบ 2 ชม.บนรถ ก็หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ได้มองดูวิวข้างทางเท่าไหร่ รู้สึกได้เพียงว่ารถเลี้ยวโค้งไปมา ในใจก็ชื่นชมคนขับอยู่

พอฟ้าสาง มองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นเป็นเหวระหว่างทาง เต็มไปด้วยหิมะ ในใจก็คิดว่า นี่พวกเราเก่งนะ มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศกันเอง บนรถไม่มีคนไทยมาเลย และหาคนไทยไม่เจอเลย ระหว่างทาง เดินทางมาแบบนี้ ถ้าเป็นตอนมาเที่ยวจีนใหม่ ๆ คงกลัวหลงมาก แต่พอถึงตอนนี้ กลับรู้สึกเฉย ๆ เสียแล้ว

พอตื่นแล้วก็มองข้างทาง ดูรถขับรถขึ้นเขาไปมา จนรถบัสมาจอดที่ สถานีจอดรถบัส เล่ยตงผิง ก่อนจะต้องเดินต่อไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อขึ้นกระเช้า แล้วจึงเดินต่อไปจนถึงยอดเขาจินติ่ง ซึ่งมีพระรูปของพระสมันตรโพธิสัตว์ ประทับอยู่

ลงจากรถ ที่สถานีเล่ยตงผิง สังเกตว่าที่พื้นเดินแล้วลื่นมาก อ่านข่าวเจอว่าเมื่อคืนเกิดหิมะตก เพิ่งหยุดไปไม่นาน

ที่สถานีรถมีร้านค้า สามารถแวะเข้าห้องน้ำได้ เราลองเดินดู เห็นว่าพื้นลื่นมาก เห็นหน้าร้าน ขายถุงคลุมรองเท้าอยู่ จึงตัดสินใจซื้อ

เราเสียค่าถุงคลุมรองเท้า ไป 40 หยวน ด้วยแต่ด้วยความเข้าใจผิดว่าถุงคลุมรองเท้าเป็นรองเท้าเดินบนหิมะ พอใส่แล้วเดิน ก็ยังลื่นอยู่

พอเดินไปจนถึงทางขึ้น เห็นร้านค้าขายรองเท้าสวมกันหิมะ เลยต้องเสีย ค่ารองเท้าใส่เดินบนหิมะอีก 50 หยวน ถือว่าโดนจ่ายราคาแรงมาก ดังนั้น ใครที่จะเที่ยวเอ่อเหมย ในตอนฤดูหนาว แนะนำให้ซื้อจากด้านล่างเลย ราคาถูกกว่ามาก

แต่เราสองจิต สามใจ จะซื้อหรือไม่ซื้อดี เลยเสียค่าประสบการณ์ไปเสียเยอะ แต่เมื่อจ่ายสูงแล้ว เราก็เลยขอให้คนขาย ช่วยใส่ให้ด้วยเลย

พอใส่รองเท้ากันหิมะแล้วก็เดินสบาย จากสถานีเล่ยตงผิง เดินไปทางขึ้นกระเช้า เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโล ถ้าไม่นับว่าอากาศที่หนาวมาก และเริ่มหิวหน่อย ๆ แล้ว ถือว่าเป็นเส้นทางที่สวยที่สุด เพราะเดินผ่านเส้นทางที่มองไปเห็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยหิมะ น่าประทับใจมาก

แต่ระหว่างทาง ต้องแวะยืนพักเป็นระยะ ๆ เพราะเป็นทางเดินขึ้นเขา และต้องแวะจิบน้ำด้วยเพราะอากาสแห้งมาก

เราแวะพักที่ศาลาแห่งหนึ่งระหว่างทางเดิน กินขนมปังที่ซื้อมาจากด้านล่าง ในศาลแวะพักเห็นวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง แวะพักอยู่ด้วย เกือบทุกคน มีไม้เท้าค้ำยัน ช่วยในการเดินขึ้น ตรงศาลาแวะพักนี้มีแผนที่ บอกระดับความสูง ซึ่งถือว่าเราขึ้นมาไกลมากแล้ว

จากศาลาที่พัก หลบลมหนาว แวะกินขนม กินน้ำ เสร็จก็เดินต่อไปจนถึงทางขึ้นกระเช้า ที่ทางขึ้นกระเช้า มีป้ายเตือนว่าให้ถอดรองเท้ากันหิมะ ทำให้เราต้องเสียเวลาทุลักทุเลเล็กน้อย

ส่วนกระเช้าที่ขึ้นเขานั้น ตอนแรกเราคิดว่าเป็นกระเช้าแบบที่เราไปขึ้นที่กำแพงเมืองจีนด่านมู่เถียนหยี่ แต่กระเช้าที่นี่จะใหญ่กว่า และไม่มีที่นั่ง เวลาขึ้นแต่ละทีก็ต้องเบียด ๆ กันไป ขึ้นได้เกือบ 30 คนโดยประมาณ ใช้เวลาประมาณ 5 นาทีก็ถึงที่หมาย

ช่วงเวลาขึ้นเขา โดยกระเช้า จะผ่าน ป่า และต้นไม้ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวจะเต็มไปด้วยหิมะ สวยงามมาก

พอลงจากกระเช้า ก็ต้องกลับมาใส่รองเท้ากันหิมะใหม่อีกรอบ ระหว่างทางออก จากมีร้านขายอาหาร ใครหิวก็แวะกินได้ ส่วนเราได้แต่ดมกลิ่นมาม่า แล้วตัดใจ เพราะกลัวว่าจะไม่มีเวลาพอ

บนเขา หมอกหนามาก แต่อทิวทัศน์ก็สวยงาม แบบภาพฝัน

พวกเรามุ่งตรงไปยัง ทางขึ้นไปสักการะ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ซึ่งก็ต้องเดินขึ้นไปอีก วันนี้หมอกหนา แทบจะไม่เห็นองค์พระ เราต้องเดินเข้าไปใกล้ ๆ ซึ่งระหว่างทางขึ้น จะเห็นเป็นรูปปั้นช้างซ้ายขวา

พอขึ้นไปถึงครึ่งทางด้านขวา จะมีระฆังใบใหญ่ไว้ตี ซึ่งเราตั้งใจว่าจะกลับมาตีหลังจาก ขึ้นไปไหว้พระแล้ว

เดินขึ้นต่อไปสุดทาง จะพบ ทางขึ้นซ้ายขวา ขึ้นไปไหว้ด้านบน

ขึ้นไปถึงแล้ว เราได้ไหว้องค์พระใกล้ ๆ และเดินสำรวจบริเวณรอบ ๆ อยู่ระยะเวลาหนึ่ง

ก่อนกลับลงมา ตีกลอง และเดินกลับลงมาทางเดิม

ตอนขากลับ หิมะที่พื้น เริ่มละลาย และเริ่มมีคนมากวาดทางเดิน ให้คนเดินขึ้นได้ง่ายขึ้น ฟ้าเริ่มเปิด หมอกเริ่มหายไป เราเดินสวนทางกับนักท่องเที่ยว หลายคนที่เพิ่งเริ่มต้น ขึ้นมา

ในระหว่างทางลง ย้อนกลับมาทางเดิม คือต้องลงกระเช้า และเดินระยะทางมาที่สถานีรถบัส เล่ยตงผิง

ตอนขากลับมีเรื่องที่ทำให้ประทับใจเล็ก ๆ คือ ในตอนที่เดินลงมา เห็นฝรั่งคนหนึ่งแก่แล้ว อยู่ในทางขาลงเขา ยื่นรองเท้าหิมะ ให้กับวัยรุ่นหญิงคนหนึ่ง ที่เพิ่งเริ่มต้นเดินขึ้นเขา แล้วทำทีท่าว่า ยกให้ ส่วนฝ่ายน้องผู้หญิง ก็รับมาแบบงง ๆ ส่วนเราเป็นผู้สังเกตการณ์ ก็เห็นความประทับใจ เรื่องของการให้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ในเหตุการณ์นี้

ขากลับ เราเดินกลับมาทางเล่ยตงผิง เพื่อหารถบัสกลับ แต่งง ๆ เล็กน้อยว่าจะกลับไปที่เดิม อย่างไร สอบถามตำรวจ พี่ก็ดุมาก บอกว่า ตอนขึ้นมาจากที่ไหน ก็กลับไปที่สถานีนั้น เลยเพิ่งมารู้ว่า อ๋อ มีรถบัสไปส่งถึงสถานีรถไฟเอ่อเหมยซานเลยด้วย เลยจำขึ้นมาได้ว่า ตอนขามา ที่เจ้าหน้าที่นักท่องเที่ยวถามว่าจะขึ้นเขาเลย หรือพักที่ตีนเขา เพราะถ้าขึ้นเขาเลยก็จะมีรถบัส ขึ้นเอ่อเหมยซาน มาได้เลย

ส่วนเราต้องกลับไปที่ เป้ากั๋วซื่อ เพื่อเอากระเป๋าเดินทางใบเล็กที่ฝากไว้ที่พัก จากนั้นจึงจะนั่งรถแท๊กซี่ไปที่สถานทีเอ่อเหมย

ระหว่างนั่งรถขากลับ คนขับรถบัส เคร่งครัดเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยเช่นเดิม ระหว่างทางเป็นทางลงเขา ค่อนข้างชัน แต่คนขับรถ ขับดีมาก เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ถ้าเป็นช่วงที่คนมาเที่ยวเยอะ รถจะติดมาก บางครั้งติดถึง 5-6 ชั่วโมง เราก็นึกชื่นชมในใจ

ระหว่างทาง รถบัส จะแวะจอดส่งคนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ขอให้นึกถึง อุทยานแห่งชาติ ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีรถบัสเวียนให้บริการ แต่ละจุดสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งหากมีเวลาเราสามารถแวะเที่ยว และขึ้นรถบัสอีกคันกลับได้

ในระหว่างทาง มีคนที่ดูทางท่าเป็นคนทิเบต นั่งรถบัสมาด้วย ทำท่าทางว่าจะเมารถ และทำท่าจะอาเจียน คนขับก็บ่น ๆ บอกว่ามีถุงพลาสติกให้อาเจียนได้ แต่สุดท้ายเขาก็ทนไม่ไหวอาเจียนในรถ ก่อนจะลงไปอาเจียนออกที่จุดแวะพักพอดี

ลืมเล่าไปว่า มีชาวพุทธหลายนิกายเลย ที่มาไหว้พระที่เอ่อเหมย รวมไปถึง พระนิกายมหายาน สายทิเบต ที่สีจีวร จะเป็นสีแดงเข้ม เป็นเอกลักษณ์ แต่มารอบนี้ยังไม่เห็นการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ คือ การกราบโดยอวัยวะทั้ง 8 คือ หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง หน้าอก เข่าทั้งสอง และปลายเท้าทั้งสอง แนบพื้นดิน ซึ่งเหมือนว่าเราเคยเห็นมาที่วัดสายทิเบต ที่ปักกิ่ง

จากจุดพักรถ เรานั่งรถลงเขาสบาย ๆ มาจนถึง ต้นทางของสถานี และแวะไปเอากระเป๋าเดินทาง ที่ที่พัก จากนั้นก็แวะไปกินข้าวร้านเดิม ที่เมื่อคืนวานแวะไปกิน พร้อมสั่งข้าวผัด อร่อย ๆ กลับไปที่เฉิงตู คืนนี้

กินข้าวเสร็จ โบกรถแท๊กซี่ไปสถานีเอ่อเหมยซาน คนขับชวนคุยอีกแล้ว ว่าถ้ามีเวลาให้แวะไปที่เล่อซาน ด้วย เราก็บอกไปว่า แวะไปแล้ว เมื่อวาน ขาลงรถ ก็โดนถามเหมือนเดิมว่า เป็นคนที่ไหน เราก็ให้คนขับเดาอีกแล้ว และได้คำตอบว่า เป็นคนมาเลเซีย เราก็บอกว่าเป็นคนไทย ก็โดนชมเหมือนเดิมว่าไม่นึกว่า คนไทยจะพูดจีนได้ พูดได้ดีนะ เราก็ใจฟู มาเล็กน้อย แล้วคิดอยากให้คนไทยมาเที่ยวจีนเยอะ ๆ เหมือนเดิม เขาจะได้รู้ว่าคนไทยก็สนใจที่จะท่องเที่ยวจีนด้วยเหมือนกัน

พอถึงสถานี เมื่อลงจากแท๊กซี่และเข้าไปที่สถานีแล้ว จะต้องขึ้นบันไดเลื่อนไปด้านบน เพื่อรอรถไฟตามเวลา เราสังเกตว่า ที่สถานีนี้ ส่วนใหญ่มีแต่นักท่องเที่ยว ที่มาขึ้นรถไฟ ไม่ค่อยมีคนพื้นที่สักเท่าไหร่ และส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวก็แต่งตัวกันจัดเต็ม เหมือนมาสกีหน้าหนาวเลยทีเดียว

ขากลับ เรานั่งรถขบวน C ไม่ใช่ G หรือ D บนรถไฟ แปลก ๆ เพราะมีที่โหนเหมือนรถเมล์ ถึงความเร็วจะช้ากว่า แต่ก็ถือว่าเร็วมากอยู่ดี

ถึงสถานีรถไฟเฉิงตูตง ตอนเย็น ๆ และนั่งรถไฟใต้ดิน ไปที่สถานี ทงฮุ่ยเหมิน เช็คอินเข้าที่พัก โรงแรมเดิม

พอถึงโรงแรม ที่ฟร้อนก็เตรียมกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ ฝากไว้ให้แล้ว และทางโรงแรมก็จัดให้เราได้พักห้องพักเดิม เหมือนคืนแรก วันนี้พิเศษคือพนักงานถามว่าจะเอา เซียวเย่ หรืออาหารมื้อดึกไหม เราก็เลยถามว่ามีด้วยเหรอ ทางพนักงานบอกว่ามี ฟรี เป็นบริการของโรงแรม เราเลยบอกว่า ขอด้วย 2 ที่ พนักงานเลยถามว่าจะทานที่ห้องอาหารที่ใกล้ๆ ฟร้อน หรือจะให้พนักงานนำไปให้ด้านบน เราเลยบอกว่ารบกวนนำไปให้ด้านบน สรุปว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่เราขอเซียวเย่ ทุกวันที่อยู่โรงแรมนี้เลย

ถึงโรงแรม แล้ว พักผ่อน เป็นอันสบายใจว่า หลังจากนี้ เราจะอยู่โรงแรมนี้จนกลับ และเริ่มต้นแผนการท่องเที่ยวในเฉิงตู ต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *