สักการะท้าวเวสสุวรรณ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม

วัดจุฬามณี ตั้งอยู่ที่ คลองวัดจุฬามณี หมู่ที่ 9 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

          วัดจุฬามณี เป็นวัดที่เก่าแก่ และมีความสำคัญมากวัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย เพราะเป็นแหล่ง กำเนิดของสตรีคนสำคัญถึง 4 คน ณ บริเวณหลังวัดนี้ และยังเป็นที่อพยพหลบภัยของญาติพี่น้อง และมิตรสหายของหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)

          วัดจุฬามณี เดิมเรียกกันว่า “วัดแม่ย่าเจ้าทิพย์” เรียกชื่อมาแต่สมัยอธิการเนียม เป็นเจ้าอาวาส เพราะวัดนี้สมัยหนึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก ได้รับอุปการะจากท่านทิพย์ (ไม่ทราบว่าสืบสายมาจากไหน) ได้ให้ความอุปถัมภ์ปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเรียกชื่อวัดตามนามผู้อุปถัมภ์

          ผู้สร้างวัด คือ ท้าวแก้วผลึก (น้อย) เป็นผู้หญิงนายตลาดบางช้าง สมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2173 – 2198) ท้าวแก้วผลึกอยู่ในตระกูลเศรษฐีบางช้าง มีหลานชาย ชื่อทอง ได้แต่งงานกับญาติในตระกูลเศรษฐีเช่นกัน ชื่อสั้น เศรษฐีทองมีบุตรธิดากับท่านสั้นถึง 10 คน ซึ่งได้ถือกำเนิด ณ บริเวณหลังวัดจุฬามณีแห่งนี้ ที่ควรจะกล่าวถึง คือ

          1. คุณนาก ธิดาคนที่ 4 คือ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระราชินีในรัชกาลที่ 1พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

          2. คุณนวล ธิดาคนที่ 9 แต่งงานกับนายบุญนาค สหายของหลวงยกกระบัตร ได้อพยพลี้ภัยมาอยู่ในสวนลึกหลังวัดจุฬามณีด้วย ก่อนกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ดำรงตำแหน่งนายฉลองไนยนาถ มหาดเล็กวังหน้า เป็นต้นตระกูลบุญนาค

          3. คุณแก้ว ธิดาคนที่ 10 แต่งงานกับพระแม่กลองบุรี (ศร) เป็นต้นตระกูล ณ บางช้าง

          4.  คุณบุญรอด ธิดาของคุณแก้ว พี่สาวของหลวงยกกระบัตร ซึ่งพาครอบครัวอพยพหลบภัยมาอยู่ด้วย ขณะตั้งครรภ์อยู่ กาลต่อมาคุณบุญรอดได้เป็นพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ และมารดา คือ คุณแก้ว ดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมพระศรีสุดารักษ์ ในรัชกาลที่ 1

          ต่อมานิวาสสถานหลังวัดจุฬามณีแห่งนี้ถูกไฟไหม้ ครอบครัวจึงได้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่ในสวนเดิมของท่านสั้นมารดา และ ร.2 หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชสมภพ ณ สถานที่แห่งใหม่นี้ ปัจจุบันก็คือ สถานที่ตั้งวัดอัมพวันเจติยาราม

   สิ่งสำคัญของวัด ที่ควรชม และนมัสการ ได้แก่

               1. อุโบสถหลังใหม่ เป็นอุโบสถจตุรมุขหินอ่อน หลังคาซ้อน 3 ชั้น พื้นปูด้วยหินหยกสีเขียวจากเมืองการาจี ปากีสถาน สร้างแทนอุโบสถหลังเดิม ซึ่งสร้างด้วยไม้สัก และไม้เนื้อแข็ง ได้บูรณะซ่อมแซมกันตลอดมาด้วยเวลาอันยาวนาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 พระครูโกวิทสมุทรคุณ (หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท) จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทน ใช้เวลายาวนานถึง พ.ศ. 2530 ท่านได้มรณภาพอุโบสถเกือบจะสำเร็จเรียบร้อย และศิษย์ของท่าน คือ พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (อิฏฺฐ ภทฺทจาโร) ได้ดำเนินการต่อมาจนเรียบร้อย

               อุโบสถหลังนี้ นอกจากเป็นอุโบสถที่มีรูปแบบงดงามแล้ว ภายในอุโบสถยังวิจิตรงดงามมาก ประดิษฐานพระประธานบนฐานสูง ประดับประดาด้วยโคมไฟ บานหน้าต่างด้านนอกลงรักฝังมุก เป็นภาพตราพระราชลัญจกรตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระนามาภิไธยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่างๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และนิทานชาดก ที่ประณีตงดงาม ฯลฯ ควรแก่การเข้าชมเป็นอย่างยิ่ง ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของจิตรกรหญิงนิตยา ศักดิ์เจริญ ใช้เวลาในการวาดนานถึง 6 ปี

               2. นมัสการหลวงพ่อเนื่อง เกจิอาจารย์ชื่อดัง ร่างของท่านยังบรรจุไว้ในโลงแก้วบนศาลาการเปรียญวัดจุฬามณี หลวงพ่อเนื่องเป็นศิษย์หลวงพ่อแช่มเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญทางสมถกรรมฐานมีคนนับถือมาก ท่านเป็นศิษย์ของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ประชาชนได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเห็นว่าวัดจุฬามณีกำลังเสื่อมโทรม ส่วนหลวงพ่อเนื่องก็มีความศักดิ์สิทธิ์และสร้างความร่ำรวยให้แก่สาธุชนทั่วไปจนเป็นที่เลื่องลือ

               3. องค์ท่านพ่อท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวเวสสุวัณ ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาที่มีสี่ภาค รวมทั้งคาถาขอพร

การเดินทาง วัดจุฬามณีตั้งอยู่ริมคลองอัมพวา เดินทางทางน้ำ ส่วนทางบกสะดวกมาก ห่างจากที่ตั้งอำเภออัมพวาประมาณ 2 กิโลเมตร หากเดินทางจากแม่กลอง เข้าถนนแม่กลอง – บางแพ จากแยกไฟเขียวแดงแรกไปไม่ไกลนัก แลเห็นป้ายวัดจุฬามณีอยู่ปากทางเข้าด้านขวามือ

ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสงคราม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *