อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีพื้นที่ครอบคลุมรอยต่อสองจังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ภูหินร่องกล้าเป็นแหล่งกำเนิดของประวัติศาสตร์การ สู้รบอันยาวนานเป็นวีรกรรมของนักรบไทย ความขัดแย้งของลัทธิและแนวความคิดที่นำไปสู่ความสูญเสียเลือด ชีวิตและน้ำตา

ในปี พ.ศ. 2511-2525 เทือกเขาหินร่องกล้านี้เคยเป็นฐานที่มั่นใหญ่ในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นผลเกิดปัญหาความมั่นคงทางการเมืองขึ้น ในกลางปี พ.ศ. 2515 ทางราชการทหารจึงได้เปิดยุทธการภูขวาง โดยจัดกองพลผสมจากกองทัพภาคที่ 1, 2, 3 กรมการบินศูนย์สงครามพิเศษทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน เข้าปฏิบัติเพื่อยึดภูหินร่องกล้า ทว่าไม่สำเร็จเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวยเนื่องจากภูหินร่องกล้าตั้งอยู่กลางเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นป่ารกทึบ

ต่อมากองบัญชาการทหารบก ได้เปลี่ยนแผนยุทธการในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยใช้นโยบายที่ 66/2523 และคำสั่งที่ 65/2525 กองทัพภาคที่ 3 และทหารหน่วยผสม พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 3 (พตท. 33) ซึ่งนำโดย พันเอกไพโรจน์ จันทร์อุไร ผู้อำนวยการ พตท.33 ได้นำนโยบายใหม่นี้เข้าปฏิบัติการจนประสบความสำเร็จได้รับชัยชนะ โดยไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่น้อย บรรดาชาวบ้านและมวลชนของ ผกค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เผ่าม้ง (แม้ว) ได้กลับใจไม่ให้ความร่วมมือกับ ผกค. และเข้ามอบตัวกับทางราชการส่วนแกนนำได้ละทิ้งฐานที่มั่นไป จากนั้น พตท. 33 จึงได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แห่งนี้โดยการตัดถนนผ่านใจกลางภูหินร่องกล้า ต่อมา พตท. 33 ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ สร 4001(301)/324 ลงวันที่ 10 มกราคม 2526 ให้กองทัพภาคที่ 3 และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 พิจารณาร่วมและประสานกับกรมป่าไม้เพื่อพิจารณา จัดตั้งบริเวณภูหินร่องกล้าเป็นอุทยานแห่งชาติ

สถานที่ท่องเที่ยว

ลานหินแตกอยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่องเหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้เท่านั้น บางรอยกว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ความลึกของร่องหินแตกเหล่านั้นไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลกจึงทำให้พื้นหินนั้นแตกเป็นแนวนอกจากนี้บริเวณหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคนส์ ตะไคร่ เฟิน และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

ลานหินปุ่ม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ริมหน้าผาลักษณะเป็นลานหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน สูงประมาณ 1 ฟุต คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติของหินทางเคมีและฟิสิกส์ ประกอบกับการขัดเกลาของกระแสลมและสายฝน นอกจากนั้นทางด้านประวัติศาสตร์ ลานหินแห่งนี้ยังเป็นที่สำหรับพักฟื้นของพรรคคอมมิวนิสต์ เนื่องจากอยู่บนหน้าผา จึงมีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน แต่ปัจจุบันได้ถูกไฟป่าไหม้หมดแล้วเหลือเพียงหลักฐานที่บ่งบอกบางส่วนเท่านั้น โดยเก็บรักษาไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ผาชูธงอยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 500 เมตร เป็นยอดเขาที่มีความสูง สามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลรอบด้าน โดยเฉพาะเป็นจุดชมดวงอาทิตย์ตกดินจะสวยงามไม่แพ้จุดชมทิวทัศน์อื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่ พคท.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งที่รบชนะทหารของรัฐบาลและชูธงส่งข่าวสาร นอกจากนี้ตลอดเส้นทางเดินเราสามารถที่จะศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆ ควบคู่ไปด้วย

โรงเรียนการเมืองการทหารอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 4 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่ารกทึบหนาแน่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในอดีตเคยเป็นสถานที่สำหรับให้การศึกษาตามแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในบริเวณโรงเรียนการเมืองการทหาร จะประกอบไปด้วยบ้านฝ่ายพลเรือน ฝ่ายพลาธิการ ฝ่ายสื่อสาร และสถานพยาบาล ส่วนเหล่านี้มีทั้งหมด 31 หลัง เป็นบ้านหลังเล็กๆ กระจายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ภายในบ้านแต่ละหลังจะมีแคร่สำหรับนอน และโต๊ะสำหรับเขียนหนังสือทำด้วยไม้กระดานอย่างหยาบๆ เศษข้าวของกระจายอยู่เกลื่อน บางหลังเริ่มผุพังเพราะถูกปล่อยให้ร้างหลังจากมวลชนเข้ามอบตัวแล้ว นอกจากนี้บริเวณตอนกลางของโรงเรียนการเมืองการทหาร มีรถแทรกเตอร์จอดอยู่ 1 คัน ซึ่ง ผกค. ทำการยึดจากบริษัท พิฆเนตร แล้วเผาทิ้งไว้ และในช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนมกราคม จะมีใบเมเปิ้ลหล่นลงหลังคาบ้านพักสหายสีแดงสวยงาม

ภูลมโล เป็นภูเขาที่ตั้งอยู่บนรอยต่อ ของสามจังหวัด คือพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย ภูลมโลอยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,664 เมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวในเวลานี้ เป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่เยอะที่สุดในประเทศไทย ในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ มีต้นนางพญาเสือโคร่งนับหมื่นต้น ภูลมโลอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ประมาณ 15 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวภูลมโลอยู่ในช่วงฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานในช่วงเดือน ม.ค. ของทุกปี ทั้งนี้ในแต่ละปีดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานไม่ตรงกัน ก่อนเดินทางต้องเช็คข้อมูลกับทางอุทยานฯก่อนทุกครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *