วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ฮินดู นิกายศักติ ซึ่งนับถือเทพสตรีผู้เป็นแม่เป็นใหญ่ในลัทธิ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2422 โดยชาวอินเดียจากรัฐทมิลนาดู ที่โดยสารเรือเข้ามาประเทศไทยทางภาคใต้
สันนิษฐานว่าเดิมบริเวณที่ตั้งของวัดพระศรีมหาอุมาเทวีเป็นสวนผักของนางปั้น อุปการโกษากร ภริยาของหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) คหบดีค้าขายเรือสำเภา ต่อมาชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในย่านถนนสีลม ได้รวบรวมเงินบริจาคมาซื้อที่ดินแปลงนี้จากชาวจีนคนหนึ่ง แล้วสร้างวัดขึ้นโดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นศูนย์กลางทางศาสนาและการประกอบกิจกรรมของชาวฮินดูจากอินเดียตอนใต้ และได้มีการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ “วัดพระศรีมหามรีอัมมัน” เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
เมื่อแรกสร้าง เป็นเพียงศาลาขนาดเล็กมีชื่อว่า ศาลาศรีมรีอัมมัน ต่อมาจึงมีการสร้างโบสถ์และนำ เทวรูปพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีจากประเทศอินเดียมาประดิษฐาน สถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบอินเดียใต้อันสืบเนื่องจากสถาปัตยกรรมสมัยราชวงศ์โจฬะและราชวงศ์ปัลลวะ ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในเทวาลัยที่ทมิฬนาฑู จุดเด่นทางสถาปัตยกรรมของวัด ได้แก่ โคปุระหรือซุ้มประตูที่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเทพเจ้าต่าง ๆ ประดับรูปปั้นเทพเจ้าองค์สำคัญ ๆ ของศาสนาฮินดูบนซุ้มและมุมเครื่องยอด ทาสีสันสวยงาม เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาแล้ว จะพบกับโบสถ์ประธาน ภายในโบสถ์ประธานประดิษฐานเทวรูปสำคัญ ๓ องค์ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย ได้แก่ พระศรีมหาอุมาเทวี พระขันทกุมาร และพระพิฆเนศวร
จากป้ายชื่อของวัดที่เขียนในภาษาทมิฬที่อ่านว่า “อรุลมิกุ ศรี มหา มาริอัมมัน โกวิล” นั้นหมายถึง “เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของพระศรีมหามาริอัมมัน (เจ้าแม่แห่งฟ้าฝน)”
คำว่า “มาริ” ในภาษาทมิฬ แปลว่า “ฝน” พระองค์คือเจ้าแม่แห่งฝน ซึ่งนับถือกันมากในสังคมเกษตรของทมิฬโบราณ
ในขณะเดียวกันตำนานพื้นเมืองกล่าวถึงพระองค์ในฐานะเจ้าแม่แห่งโรคฝีดาษด้วย
ดังนั้นหากกล่าวโดยแท้จริงแล้ว พระแม่มาริเป็นพระแม่เจ้าของชาวทมิฬโดยแท้ คือ เป็นเจ้าแม่พื้นเมืองเดิมของชาวอินเดียใต้ ก่อนที่ศาสนาฮินดูจะแผ่ขยายลงมาแล้วผนวกเจ้าแม่เข้ามาเป็นเทวีฮินดูในภายหลัง แต่สาเหตุที่ต้องเรียกวัดด้วยนามว่า “ศรีมหาอุมาเทวี” นั้น ก็เพื่อให้คนไทยเข้าใจได้โดยง่าย โดยถือคติว่า เจ้าแม่ทุกองค์ย่อมเป็นภาคส่วนของพระเทวีใหญ่ เช่น ทุรคา อุมา หรือปารวตี หากแต่พระนาม “อุมาเทวี” เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย
วัดแขก หรือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี บ่งบอกถึงนิกายที่ผู้ก่อตั้งนับถือว่าเป็น นิกายศักติ คือ นับถือเทพสตรี (มหาเทวี) ซึ่งเทพสตรีในศาสนาฮินดู
พระศรีมหาอุมาเทวี หรือ พระแม่อุมานั้น เป็นพระมเหสีของพระอิศวร หรือพระศิวะ เมื่อยามที่พระองค์ทรงเสวยร่างเป็นเจ้าแม่อุมา จะเป็นเจ้าแห่งความเมตตากรุณา และงามสง่า จึงมีผู้นิยมไปขอพรกันมากมายมิได้ขาด
นอกจากนี้ วัดแขก ยังเป็นที่ประดิษฐานของ พระพิฆเนศ รวมทั้งมหาเทพ และมหาเทวีองค์อื่น ๆ ในศาสนาฮินดูอีกมากมาย เช่น พระพรหม พระวิษณุ พระขันทกุมาร พระแม่ลักษมี พระแม่สุรัสวดี
ทางด้านสถาปัตยกรรมของวัดโดดเด่นด้วย ศิลปะโบราณของอินเดียตอนใต้ ผสมผสานกันระหว่างสมัยโชละและปาลวะ ซึ่งจะพบในเทวาลัย ทางอินเดียตอนใต้โดยเฉพาะใน รัฐทมิลนาดู ภายในมีองค์พระแม่ศรีมหามารีอัมมัน (พระแม่อุมา) ประดิษฐานเป็นเทพประธานอยู่กลางโบสถ์ แวดล้อมไปด้วยพระพิฆเนศ พระขันธ์กุมาร พระศิวะ พระกฤษณะ พระวิษณุ พระแม่รัศมี และพระแม่กาลี
บริเวณกลางลานเทวสถานมีเทวาลัยขนาดเล็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐาน ศิวลึงค์
แม้เดิมทีจะเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับผู้นับถือศาสนาฮินดู แต่ปัจจุบันได้เปิดกว้างต้อนรับผู้มีจิตศรัทธาต่อองค์เทพต่าง ๆ โดยไม่จำกัดศาสนาแต่งอย่างใด
ภายในวัดแขกนั้นมีเทพให้บูชาอีกมากมาย เราจึงนำชื่อพระองค์มา พร้อมทั้งบอกเป็นแนวทางไว้ว่าเทพองค์ใดจะเด่นเรื่องใดเป็นพิเศษ หรือสามารถขอพรด้านใด ถวายอะไรแก่พระองค์ได้บ้าง แต่ในทุกการถวายจะต้องงดเนื้อสัตว์ทั้งหมดอย่างที่กล่างไปข้างต้น และควรแต่งการให้สุภาพและตั้งจิตตั้งใจให้ดี
พระแม่อุมาเทวี เป็นองค์ประธานของทางวัดแขกสีลม พระแม่ควรขอในเรื่องของ การเลื่อนขั้น ในหน้าที่การงาน ขอความรัก ขอให้มีครอบครัวที่ดี โดยของที่จะนำไปถวายได้แก่ ดอกไม้ที่มีสีแดง หรือ สีเหลือง ขนมที่มีรสชาติมัน ปราศจากเนื้อสัตว์ ไม่มีกลิ่นที่แรงจนเกินไป ใช้เป็นขนมโมทกะหรือลาดูก็ได้ ตลอดจนธัญพืช และผลไม้ต่าง ๆ มะม่วงควรถวายสุก แต่อื่น ๆ ไม่มีปัญหา
พระพิฆเนศ เป็นองค์เทพที่นับถือกันอย่างและควรไหว้เป็นองค์แรก พระองค์เหมาะแก่การขอพร ด้านการค้าขาย ด้านการเรียนก็ดีเพื่อให้เป็นกำลังใจในการรับรู้สิ่งใหม่ ๆ ของถวายพระองค์ ควรเป็น นม น้ำแดงที่ปราศจากการอัดลม ขนมที่พระองค์ทรงโปรดอย่างโมทกะและลาดู ผมไม้ต่าง ๆ เน้นเป็น 9 ชนิด หรือหากมี ชนิดเดียว ก็ควร 9 ผล
พระพรหม พระองค์จะมีพระพักตร์ทั้งหมด 4 พระพักตร์ โดยการนับจะนับวนตามเข็มของนาฬิกา แต่ละด้านก็จะให้พรไม่เหมือนกัน
พระพักตร์แรกด้านหน้า โดดเด่นในเรื่องงาน การเรียน การสอบ
พระพักตร์ที่สอง โดดเด่นในเรื่อง ที่อยู่อาศัย หนี้สินที่มีก็จะเบาบางลง
พระพักตร์ที่สาม โดดเด่น ในเรื่อง สุขภาพครอบครัว ความรัก
พระพักตร์ที่สี่ พระพักตร์สุดท้าย โดดเด่นในเรื่องของโชคลาภ
โดยการบูชาพระองค์นั้นควรไหว้ให้ครบทั้งสี่พระพักตร์ โดยเริ่ม จากด้านหน้า แล้วไล่ตามเข็มนาฬิกาจนกลับมาที่เดิม ของที่ควรถวาย ดอกไม้กลิ่นอ่อน มะลิ ดาวเรือง ดอกบัว ดอกโมก ขนมหวานจะต้องเป็นรสอ่อน ไม่ผสมสี เน้นความเป็นธรรมชาติ ผลไม้ถวายได้ทุกชนิดแนะนำ มะพร้าว สาลี่ ชมพู่ กล้วย ธัญพืชต่าง ๆ สามารถถวายได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแบบสุกหรือไม่สุกก็ตาม
พระขันธกุมาร เหมาะแก่การขอพรในด้านความกล้าหาญในการที่จะเริ่มต้นใหม่ ขอให้ขจัด ความกลัวในใจ หรือจะขอเป็นการคุ้มครองก็ย่อมได้ ของที่ควรนำไปถวาย ดอกไม้สีแดง สีเหลือง สีขาว และผลไม้
พระแม่กาลี พระแม่ควรขอในเรื่องการคุ้มครองในเรื่องของไสยศาสตร์ สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่สบายใจ ของที่ควรถวาย ควรเป็นสีแดงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้สีแดง น้ำแดง ขนมที่มีสีแดง ผลไม้สีแดง และมะนาว มะนาว มีความเชื่อในเรื่องของการปัดเป่าสิ่งไม่ดี บางคนก็ไม่ถวายบางคนก็ถวายแล้วสะดวก หากบูชาที่บ้าน สามารถถวายเนื้อไก่หรือเป็ดแบบปรุงสุกหรือกึ่งสุกกึ่งดิบได้ เมื่อถวายคาวควรมีเหล้าถวาย หากถวายขนม ไม่ต้องถวายเหล้า
พระแม่ลักษมี พรที่ควรขอควรจะเน้นไปในทางขอด้านความรักเพราะพระองค์เป็นเทพแห่งความงาม และมีความรักที่ดี ทางด้านค้าขายก็ขอให้ร้านขายดี มีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย ของควรถวาย ไม่ว่าจะขอเรื่องอะไรก็แล้วแต่ควรมี นม น้ำผึ้ง น้ำอ้อยหรือจะเป็นแท่งอ้อยเฉย ๆ ก็ย่อมได้ ผลไม้ให้เน้นไปทางกล้วยและมะพร้าว น้ำดื่ม ขนมไม่มีส่วนผสมของไข่ ดอกไม้ บัว มะลิ ดาวเรือง หรือเท่าที่หาได้ และธัญพืช
ที่ตั้ง : ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-20.00 น.
ผู้เข้าชมควรแต่งกายสุภาพ และห้ามนำอาหารของคาวเข้าไป
ภายในวัดมีชุดพวงมาลัยดอกไม้ ผลไม้ นมและขนมสำหรับถวายไว้จำหน่าย ส่วนช่วงบ่ายจะมีการปิดโบสถ์ เพื่ออ่านรามเกียรติ์ และเป็นการสรรเสริญองค์เทพ
ที่มา 1