อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 28ลิปดาถึง 9 องศา 15 ลิปดาเหนือ ตัดกับลองจิจูดที่ 97 องศา ถึง 97 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร เกาะเมียงหรือเกาะสี่เป็นที่ตั้ง
“สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง
หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร (87,500 ไร่) พื้นที่เกาะซึ่งเป็นที่ดินมีประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียที่มีการลดตัวลงของพื้นทะเล(SUBMERGENT SHORELINE) จึงมีการกัดเซาะพังทลายโดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรงทำให้บริเวณเกาะทั้ง 9 เกาะ เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่างๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite อายุของหินนี้อยู่ระหว่างยุค Tertiary – cretaceous ประมาณ 65 ล้านปีที่ผ่านมา