บันทึกการเดินทาง 27 ธันวาคม 2565 ดอยอินทนนท์วันที่ 2

บันทึกการเดินทางที่ดอยอินทนนท์ วันที่ 2 วันนี้จะเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตืนเช้ามาตั้งแต่ ตีห้า – 6 โมง ปรากฎว่า รถ และเพื่อน ๆ เต้นท์ ข้าง ๆ หลาย ๆ เต้นท์ ได้ออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ในตอนนั้น ก็ฟ้ามึดอยู่ เราก็คิดในใจว่าจะออกไปดูพระอาทิตย์ขึ้นกับเขาดีไหม แต่เห็นว่าเรามาพัก ตั้ง 2 คืน ยังมีเวลา วันนี้ไปสำรวจทางไปดูพระอาทิตย์ขึ้น แบบตอนสว่าง ๆ ก่อนว่าปลอดภัยและโอเคที่จะขึ้นไหม ก่อนตัดสินใจว่าจะไปไหมวันรุ่งขึ้นก็ได้ สุดท้ายเลยตัดสินใจนอนต่อ แล้วตื่นมาอีกทีตอนสาย ๆ

ภาระกิจเราตอนเช้าคือต้องแปรงฟัน อาบน้ำ กับน้ำที่เย็นมาก ตอนแรกกะว่าจะไม่อาบน้ำตอนเช้า แต่สุดท้ายก็ทนนิสัยที่อาบน้ำก่อนเดินทางทำภาระกิจไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะหนาวขนาดไหน เราก็ต้องอาบน้ำ เมื่ออาบน้ำแต่งตัวเสร็จกว่าจะได้เริ่มต้นเดินทางก็น่าจะเป็นเวลาประมาณ 10.00 น. ขับรถออกจากจุดกางเต้นท์ ไปกินข้าวที่ร้านด้านหน้าที่ทำการอุทยานเหมือนเดิม เมื่อเย็นวานถามไว้แล้วว่าเปิดกี่โมง เขาบอกว่าเปิด 7.00 น. แต่ความจริงเราไปสายมาก ๆ

เมื่อกินข้าวเช้า ที่เกือบจะสายเสร็จ เราก็เริ่มเดินทางไปที่จุดสูงสุดของดอยอินทนนท์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Mountain Summit ซึ่งจุดสูงสุดของดอยอินทนนท์นั้น เราเคยมานานมากแล้ว ตอนนั้นจำไม่ค่อยได้ว่ามาถึงได้ยังไง แต่ครั้งนี้ เราจะขับรถไปกัน

ขับรถขั้นไปเรื่อย ๆ จนถึงด่านตรวจที่ทางขึ้น ตั๋วเข้าอุทยาน ก็ได้ใช้วันนี้เอง จึงทำให้รู้ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยใส่ใจที่จะตรวจการซื้อตั๋วเข้าอุทยานแห่งชาติมากนัก จะมาตรวจจริง ๆ ก็ตรงที่ทางขึ้นไปยังสถานที่ท่องเที่ยว

เรามุ่งหน้าไปยังจุดสูงสุดแดนสยาม และเมื่อถึง ก็พอดีได้ที่จอดรถดีมาก มาครั้งนี้ เราได้แวะเที่ยวตลาดที่เจ้าหน้าที่ของทหารอากาศมาขาย ก็มีพวกข้าวต้ม โจ้ก ไข่ปิ้ง ข้าวโพด ของร้อน ๆ ขาย เป็นตลาดเล็ก ๆ และที่ทางเข้าตลาดจะมีอาคารเล็ก ๆ เรียกว่า ศาลานภานนท์ ซึ่งที่นี่ก็มีห้องน้ำไว้คอยบริการด้วย ถึงแม้ว่าจะน้อยไปหน่อยคือ ห้องน้ำผู้หญิงมีเพียง 3 ห้อง ส่วนห้องน้ำผู้ชายดีหน่อย คือใช้ได้ทั้งหนักและเบา แต่ตอนหลัง ๆ เจ้าหน้าที่ก็ยึดห้องน้ำผู้ชาย ให้ผู้หญิง ส่วนผู้ชายก็เดินไกลนิดนึง

เมื่อเดินเข้าไปในตลาดซึ่งไม่ลึกมาก จนสุดทางก็จะเป็นสถานีรายงานดอยอินทนนท์ ของกองทัพอากาศ จากนั้นเราก็เดินออกมาทางเดิม

จากนั้นแล้ว เราก็เดินไปสักการะ พระพุทธศาสดาประชานาถ ซึ่งเป็นอาคารยกสูงขึ้นไป 2 ชั้น ซึ่งตรงนี้น่าจะถือว่าเป็นจุดสูงสุดแดนสยามของจริง ซึ่งวิวด้านหลังสวยมาก

เดินลงมาจากที่สักการะ พระพุทธศาสดาประชานาถ เราจะเห็น สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร

จากนั้น เราก็พยายามหาอยู่นานว่าป้ายไม้ สูงสุดแดนสยามอยู่ที่ไหน เพราะจำความไม่ได้แล้ว จนเกือบถอดใจ จะกลับแล้ว ก็เลย เดินสำรวจถอยออกมาทางอีกฝั่งของลานจอดรถ ก็พอดีเจอทางเข้า ไปที่ป้ายไม้จุดสูงสุดแดนสยาม ซึ่งใคร ๆ มาก็ต้องถ่ายรูป เราก็เช่นดียวกัน

ที่นี่เรายังได้ยินเสียงคนจีน และไกด์ เล่ากันว่า คนไทยบางคนก็ยังไม่เคยมาที่ยอดดอยอินทนนท์ และจุดสูงสุดแดนสยามนี้ ซึ่งก็จริงอย่างที่เขาว่า ลึกเข้าไปหน่อยจากป้ายจุดสูงสุดแดนสยาม เราจะเจอกับ กู่พระอัฐิพระเจ้าอินทวิชานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ทิพย์จักร ซึ่งเพื่อนที่ไปด้วยกันให้ความเห็นว่า เมื่อนำพระอัฐิมาไว้ในสถานที่สำคัญเช่นนี้ ก็จะทำให้คนผ่านไปมาและนักท่องเที่ยว ได้รู้จักท่านมากขึ้น

จากจุดสูงสุดแดนสยาม เราเดินทางถอยลงมายังพระมหาธาตุนภเมทนีดล และ พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ โดยตอนขาขึ้น เราก็ผ่านจุดนี้และจุดที่จะเดินไปกิ่วแม่ปานไป เพราะตั้งใจว่าจะขึ้นไปที่สูงสุดก่อน แล้วค่อย ๆ ถอยเที่ยวลงมา

มาครั้งนี้ เราก็ไม่ได้ไปเดินที่กิ่วแม่ปานอยู่ดี จำได้ว่าครั้งก่อน ก็ไม่ได้ไป แต่เห็นคนเดินไปเยอะมาก ครั้งนี้ที่จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน ก็คนเยอะเหมือนเคย และไม่ได้แวะไปเช่นเคย

ส่วนที่พระมหาธาตุเจดีย์ทั้ง 2 นั้น เคยมาแล้ว แต่ไม่ได้เที่ยวมากนัก ครั้งนี้ ได้แวะเที่ยวมากขึ้น แต่ตอนขับรถไป เห็นทางจอดรถ เข้าเจดีย์ แต่เรา ขับผ่านไปเลย เพิ่งมารู้ทีหลังว่า เขาไม่ให้รถส่วนตัว ขับเข้าไปในบริเวณเจดีย์ แต่ต้องขับถอยกลับไปจอดที่ลานจอดรถ ฟรี แล้วมี รถสองแถวฟรี รับส่งไปลงที่เจดีย์

ที่ลานจอดรถ เราสังเกตว่าเขาใช้เหล็กเส้น สาน รองเป็นพื้น ทำให้รับน้ำหนักรถที่มาจอดได้เยอะขึ้น และมีการจัดให้นักท่องเที่ยวขึ้นรถสองแถวฟรี กลับลงมาที่เจดีย์ เมื่อเที่ยวเสร็จ ก็นั่งรถสองแถว มาที่ลานจอดรถเช่นเดิม

จอดรถเรียบร้อยแล้ว นั่งสองแถว กลับไปที่เจดีย์ บนรถสองแถว เจอนักท่องเที่ยวชาวมาเลย์เซีย พูดภาษาจีน ที่ทางเข้า มีเจ้าหน้าที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ คนละ 50 บาท สำหรับคนไทย และชาวต่างชาติคนละ 100 บาท ตอนแรก นักท่องเที่ยวชาวมาเลย์จะจ่าย คนละ 50 บาท เพราะมีคนไทยแปลให้ว่าคนละ 50 บาท แต่พอเป็นคนต่างประเทศ เลยต้องจ่าย 100 บาท คนไทยที่ช่วยแปลพูดขำ ๆ ว่า ถ้านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ พูดไทยได้ คงเสียเพียงคนละ 50 บาท

แต่คนไทยที่เป็นคนแปลนี้ เก่งมากเลย เพราะเขาบอกว่าไปอยู่ไต้หวัน ทำงานมา 5 ปี จึงพูดได้ แต่จำไม่ได้แล้วว่าเขาเป็นคนจังหวัดไหน แต่เป็นคนจังหวัดโซนอีสานบ้านเรานี่เอง

มากล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่เจดีย์ สำหรับประวัติ จะแยกทำไว้ ส่วนบันทึกการเดินทางนี้ เราจะเล่าประสบการณ์มากกว่า

เมื่อเข้าไปถึงเจดีย์ จะมี 2 เจดีย์ ซึ่งเราเลือกขึ้นไปที่เจดีย์ ฝั่งซ้าย หรือฝั่ง พระมหาธาตุนภเมทนีดล ก่อน ข้อดีคือมีบันไดเลื่อน ให้ขึ้นได้ แต่ตอนลง ต้องเดินลง ด้านบนมีพระประทาน ทรงนั่ง ที่สำคัญคือมีพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า และพระสาวกหลายพระองค์ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า ตั้งแต่เกิดมาเคยเห็นสถานที่ ๆ มีพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระสาวก เยอะขนาดนี้ มีเพียงอีกที่เดียว คือ ที่วัดปทุมวนาราม ที่สำคัญคือ พระธาตุของพระสาวกที่เราเห็นมีองค์หนึ่งที่เด่นชัด คือ ของพระสีวลี ซึ่งเราเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า จะทำให้เราเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวย ตามความเชื่อว่าหากได้สักการะท่าน ก็จะมีเหลือกินเหลือใช้ และร่ำรวยนั่นเอง

เมื่อกราบพระประธานเสร็จ ก็ได้เห็นกำแพงทั้ง 4 ด้าน เป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ที่พระประธาน มีเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 องค์จำลองอยู่ ออกมาด้านนอก จะมองเห็นวิวของพระเจดีย์พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ อยู่ฝั่งตรงข้าม บริเวรด้านบนมีสถานที่ถ่ายรูปสวย ๆ อีกมาก แต่เราไม่ได้ถ่ายรูปมากนัก ก็เดินลงมาเพื่อไปขึ้นอีกเจดีย์หนึ่ง ซึ่งมีบันไดเลื่อนขึ้นไปเช่นเดียวกัน

ในฝั่ง พระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ด้านใน มีพระประธานเป็นพระปางรำพึง พระประจำวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันเกิด หรือวันประสูติของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งก็ทำให้ทราบได้เลยว่า เจดีย์ฝั่งนี้ คือตัวแทนขององค์พระราชินี

หลังจากสักการะพระประธานแล้ว ก็ไม่ได้เที่ยวและถ่ายรูปเจดีย์ฝั่งนี้มากนัก ก็ตัดสินใจลงมา เพราะแดดค่อยข้างร้อน

ลงมาถึงด้านล่าง ก็เห็นสวนขันบันไดสวย ๆ หน้าเจดีย์ แต่ก็ไม่ได้ขึ้นไปถ่ายรูป เพราะค่อนข้างเย็นแล้ว

เราแวะเข้าห้องน้ำก่อนไปรอรถสองแถว เพื่อไปที่ลานจอดรถ เมื่อถึงลานจอดรถ ก็ขับรถลงต่อไป และไม่ได้แวะเที่ยวที่ไหนต่อ แต่ลงมากินข้าวเย็นที่ร้านค้า หน้าอุทยานเหมือนเคย แต่คราวนี้เปลี่ยนร้าน เป็นร้านตอนเช้าที่กิน อาหารรสชาติไม่เหมือนตอนคืนวันก่อน แต่ให้ปริมาณอาหารเยอะกว่า

ในระหว่างนี้ ก็คุยกันว่าจะตัดสินใจลงไปนอนด้านล่างหรือหาที่พักในเมืองเชียงใหม่เลยดีไหม เพราะอากาศหนาวมาก น้ำเย็นมาก แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ยอมทน อาบน้ำเย็น และนอนในเต้นท์อีกคืนหนึ่ง ตามแผน

กินข้าวเสร็จก็กลับเต้นท์มา ซึ่งวันนี้ พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ยังมีเวลาอาบน้ำ ในตอนที่ยังไม่ค่ำมาก พออาบน้ำแล้วก็เดินไปสำรวจด้านหน้าของลานกางเต้นท์ซึ่งเป็นร้านหมูกะทะ และยังมีร้านค้าขายขนม และอาหารอย่างพร้อมเพรียง เรียกได้ว่า ถ้าหิวอีก ก็เดินออกมากินได้ แต่เราไม่อยากแปรงฟัน ใหม่อีกรอบ สรุปสุดท้าย เลยได้แต่เดินสำรวจ และกลับมากินขนมที่เต้นท์ และสุดท้ายก็ต้องไปแปรงฟันใหม่อยู่ดี

คืนนี้เข้านอนเร็ว พรุ่งนี้ยังมีเวลาตัดสินใจอีกวันว่าจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือไม่

จบวัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *